ลำดับขั้นตอนการจัดงานแต่งงานแบบไทย

ขั้นตอนที่ 1 พิธีสงฆ์ทำบุญตักบาตร
พิธีกรรมทางสงฆ์มีขั้นตอน ได้แก่ เมื่อพระสงฆ์มาถึงและนั่งที่อาสน์แล้ว คู่บ่าวสาวจะจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย อาราธนาศีล และรับศีล 5 จากนั้นพระสงฆ์จะเจริญสูตรคาถาอันเป็นมงคล พร้อมทำน้ำมนต์สำหรับใช้ในพิธี แล้วต่อด้วยการตักบาตร ในกรณีเริ่มพิธีสงฆ์ในช่วงเช้าแล้วต่อด้วยการถวายสังฆทาน หรือหากเป็นช่วงสายจะถวายสังฆทานแล้วจึงถวายภัตตาหารเพล หรืออาจจัดเป็นปิ่นโตอาหารถวาย พร้อมดอกไม้ ธูป เทียน ปัจจัย เครื่องไทยธรรม หลังจากนั้นพระสงฆ์จะเจริญชัยมงคลคาถา พร้อมประพรมน้ำมนต์ให้เพิ่มความเป็นสิริมงคลจึงเป็นอันเสร็จพิธีสงฆ์

ขั้นตอนที่ 2 พิธีการตั้งขบวนแห่ขันหมาก แห่ขันหมาก รับขันหมาก
ขบวนขันหมากจะประกอบด้วย เจ้าบ่าว จะมีเถ้าแก่ และพ่อแม่ ตามด้วยขบวนขันหมาก ซึ่งมีขันหมากเอก ขันหมากโท  ขบวนสินสอดทองหมั้น ที่มีใบเงิน ใบทอง ใบนาค กลีบกุหลาบ กลีบดาวเรือง กลีบบานไม่รู้โรย ดอกมะลิ ดอกรัก ข้าวตอกดอกไม้ ขบวนขนม ผลไม้ และต้นกล้วย  ต้นอ้อย บางขบวนอาจมีกลองยาวดนตรีให้บันเทิงใจ เพื่อเพิ่มสีสันให้กับขบวนขันหมาก อยากรู้หรือไม่ว่าใครจะเป็นคนถือพานต้อนรับขันหมาก…แน่นอนที่สุด “เด็กผู้หญิงของฝ่ายเจ้าสาว” จะเป็นผู้ถือพานค่ะ

ขั้นตอนที่ 3 พิธีกั้นประตูเงิน ประตูทอง
ช่วงเวลาแห่งการรอคอยของญาติพี่น้อง คนสนิท เพื่อนสุดรักของฝ่ายเจ้าสาว ที่จะพากันมากั้นประตูเงินประตูทอง โดยอาจจะใช้ดอกรักเส้น เข็มขัดเงิน เข็ดขัดทอง สร้อยเงิน สร้อยทอง หากเจ้าสาวคนไหนเพื่อนฝูง ญาติพี่น้องเยอะ ก็ต้องใช้เวลามากหน่อยที่จะผ่านขั้นตอนนี้ไปได้ เจ้าบ่าวก็ได้ปาดเหงื่อกันบ้าง โดยเจ้าบ่าวจะมีเถ้าแก่ หรือพ่อแม่ถือซองเป็นค่าผ่านทางเพื่อจะเข้าไปรับตัวเจ้าสาว ยิ่งประตูใกล้เจ้าสาวเท่าไหร่ เหมือนเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาช้านานคือ เจ้าบ่าวต้องจ่ายหนักมากขึ้นเท่านั้น

ขั้นตอนที่ 4 พิธีสู่ขอและพิธีนับสินสอด
เมื่อแห่ขันหมากผ่านประตูเงินประตูทองเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงขั้นตอนที่จะต้องนำพานทั้งหมดมาวางเรียงไว้ พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะเปิดพานสินสอดเพื่อนับสินสอดพอเป็นพิธี ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายก็จะช่วยกันโรยข้าวตอก ดอกไม้ ถั่ว งา ข้าวเปลือก ใบเงิน ใบทอง ที่บรรจุมาในพานขันหมากเอกลงบนสินสอด และแม่ของฝ่ายเจ้าสาวก็จะห่อสินสอดด้วยผ้าพร้อมกับแบกขึ้นบ่าตามประเพณี

ขั้นตอนที่ 5 พิธีสวมแหวนหมั้น
การสวมแหวนหมั้นมักมาพร้อมกับฤกษ์ที่เหมาะสมของทั้งสองฝ่าย หรือหากไม่ได้มีฤกษ์เฉพาะที่ทางผู้ใหญ่ได้ดูไว้ให้ก็จะถือฤกษ์ 09.09 น. ที่ถือกันว่าเป็นฤกษ์ดีให้เกิดความเจริญก้าวหน้า โดยให้ฝ่ายชายสวมแหวนให้กับฝ่ายหญิงเป็นอันดับแรก และหลังจากนั้นฝ่ายหญิงจะไหว้หรือกราบที่ตักของฝ่ายชาย และจะสวมแหวนให้ฝ่ายชาย พร้อมกันถ่ายรูปเป็นที่ระลึกคู่กัน สำหรับแหวนหมั้นนั้นไม่ได้มีกำหนดเป็นกฎเกณฑ์ว่าจะต้องใช้แหวนประเภทใด ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย มีทั้งแหวนแบบเกลี้ยงและแหวนเพชรที่นิยมกันในปัจจุบัน

ขั้นตอนที่ 6 พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพร
สำหรับการทำพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพร เริ่มจากบ่าวสาวจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย จากนั้นไปนั่งที่ตั่งเพื่อทำพิธีรดน้ำสังข์ ซึ่งเจ้าสาวต้องนั่งด้านซ้ายของเจ้าบ่าวเสมอ ประธานในพิธีคล้องพวงมาลัย สวมมงคลแฝดบนศีรษะของบ่าวสาว พร้อมกับเจิมที่หน้าผากมงคลแฝด และแป้งเจิมที่นำมาใช้นั้นเป็นของที่ได้ผ่านพิธีมงคลมาเรียบร้อย จากนั้น ประธานหลั่งน้ำอวยพรให้บ่าวสาว ตามด้วยพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ผู้ร่วมงานที่เป็นผู้ใหญ่ และเชิญแขกอื่น ๆ เข้ารดน้ำตามลำดับความอาวุโส

ขั้นตอนที่ 7 พิธีรับไหว้
พิธีแห่งการฝากเนื้อฝากตัวของคู่บ่าวสาวต่อผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย การไหว้ญาติผู้ใหญ่และพ่อแม่นั้น จะต้องก้มกราบ 3 ครั้งไม่แบมือ ส่วนญาติคนอื่นให้กราบ1ครั้งไม่แบมือ เมื่อก้มกราบแล้วให้ส่งพานธูปเทียนแพให้ผู้ใหญ่ ท่านจะรับไว้และผูกข้อมือด้วยสายสิยจน์เพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นเสมือนการรับเป็นคนในครอบครัว พร้อมกับให้พรและซองเงินเพื่อเป็นขวัญถุงให้กับคู่บ่าวสาว นอกจากนี้ยังมีการมอบของมีค่าอย่างอื่นลงบนพานเป็นประหนึ่งคำอวยพรและเป็นเงินทุนในการสร้างครอบครัวร่วมกัน

ขั้นตอนที่ 8 พิธีส่งตัวเข้าหอ พิธีร่วมเรียงเคียงหมอนหรือพิธีปูที่นอน
พิธีร่วมเรียงเคียงหมอนหรือพิธีปูที่นอน จะเป็นพิธีต่อเนื่องจากรดน้ำสังข์หาก คู่ที่มีฤกษ์ยามในช่วงเช้าหรือคู่ที่ฤกษ์ยามสะดวกอยากทำพิธีให้เสร็จในช่วงเดียวกัน  และพิธีปูที่นอนเป็นความเชื่อของคนไทยว่าผู้ที่มาปูเตียงควรเป็นคู่ที่มีชีวิตคู่มั่นคงยาวนานเป็นที่เคารพนับถือ โดยผู้ที่จะทำพิธีนี้จะต้องอาบน้ำชำระกายให้สะอาด

ขั้นตอนที่ 9 ฉลองมงคลสมรส
งานฉลองมงคลสมรสจะมี 2 เวลาที่ได้รับความนิยม โดยอาจจะจัดเลี้ยงหลังจากพิธีทุกอย่างเรียบร้อย ในช่วงเที่ยง หรือบางคู่อาจจะไปเลี้ยงฉลองในช่วงเย็น โดยการจัดเลี้ยงที่นิยม ได้แก่ คอกเทล โต๊ะจีน และบุฟเฟต์ นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการจัดเลี้ยงอื่นๆ เช่น ซิทดาวน์ดินเนอร์ (Sit-Down Dinner) หรือ อาหารเซต บางคู่อาจจะมีอาฟเตอร์ปาร์ตี้แดนซ์กระจายหลังจากการเลี้ยงยามค่ำคืนเพื่อเป็นการร่วมสนุกกับเพื่อนฝูงของทั้งสองฝ่าย

แชร์เลย!